ปาฐกถาพิเศษ การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ พฤษภาคม 19, 2017พฤษภาคม 7, 2018admin2เลือดจระเข้ม.เกษตรเลือดจระเข้, เลือดจระเข้ผง, เลือดจระเข้ม.เกษตร, เลือดจระเข้อ.วิน, เลือดจระเข้เกษตร, เลือดจระเข้แคปซูล, เลือดจระเข้แห้ง, แคปซูลเลือดจระเข้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ” โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นิสิต บุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้สนใจทั่วไปร่วมรับฟัง ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นายกรัฐมนตรีย้ำ ประเทศไทย 4.0 ด้านเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพื่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน คนไทยมีความกินดีอยู่ดี มีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้ ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มุ่งมั่นศาสตร์แห่งแผ่นดินสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ชาติ โดยการผลิตบุคลากรและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งล่าสุดผลการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject 2017 ประกาศให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 29 ของโลก อันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของเมืองไทย ในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ นับเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่มีสาขาติดอันดับ TOP 50 ของโลก นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยการพัฒนาคนการเข้าร่วมโครงการ STEM โครงการ Start-up โครงการสร้างนวัตกรรม โครงการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานให้ทุนต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Food Innopolis ที่จะมาตั้งที่คณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยยังได้นำร่องเพิ่มศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อให้นิสิตและนักศึกษานำศาสตร์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป จากนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ” ว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกคนต้องก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าสถานการณ์ภายนอก เรื่องสภาพภูมิอากาศโลก โรคระบาด ภัยพิบัติ เป็นต้น ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และต้องการให้คนไทยมีความกินดีอยู่ดี มีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model) ในทุกมิติ ทั้งภาคธุรกิจ เกษตร การศึกษา ไปสู่โมเดลใหม่ Thailand 4.0 เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักรและทรัพยากรมาผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เพื่อพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจไทยไปสู่ เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1) กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4) กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 5) กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มนี้ จะต้องพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลักและสอดรับกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1) ด้านความมั่นคงเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน 2) ด้านเศรษฐกิจที่สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3) ด้านสังคมที่จะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 4) ด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ 5) ด้านสิ่งแวดล้อม และ 6) ด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่จะบริหารจัดการในภาครัฐ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยต่อเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำที่เป็นแมลงต่างถิ่นที่ติดมากับพันธุ์ปาล์มนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยกำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปดูแลและหาทางแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน และให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการระบาดในประเทศไทย อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้หนอนหัวดำไม่มีที่ยืนในประเทศไทยต่อไป ต้องคิดให้ไกลสิ่งที่เป็นไม่ได้อาจเป็นไปได้อยู่ที่ความเชื่อมั่น ความศรัทธา ความตั้งใจ ของพวกเราทุกคน เราต้องปรับตัวทั้งรัฐมนตรี ตัวอาจารย์ ทุกคนต้องปรับตัว สำหรับเรื่องเทคโนโลยีประเทศไทยถือว่ามีการพัฒนา เช่น เฟสบุ๊ค เว็ปไซต์ การใช้โทรศัพท์ให้เกิดประโยชน์ต้องใช้แบบประหยัด นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก สำหรับกลุ่มเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถอาศัยทุนความได้เปรียบของประเทศไทยในความหลากหลายเชิงชีวภาพมาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดี อยู่ดีให้กับประชาชนชาวไทยในทุกภูมิภาค และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการพิจารณาทบทวนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่มีการต่อยอด รวมทั้งทบทวนกฎหมายและระเบียบที่ล้าสมัยและทำให้การดำเนินงานมีความล่าช้า ซึ่งไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะลดมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชน แต่เป็นการปรับปรุงการทำงานให้ทันสมัย รวดเร็วมากขึ้น อีกทั้ง ขอให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนสวัสดิการตามความต้องการของนายจ้างและตลาดแรงงาน เพื่อยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานทุกประเภทให้มีความทันสมัย สามารถใช้ภาษาสื่อสารกับนายจ้างได้ โดยเฉพาะการสอนภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาษาที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน เพื่อยกระดับเป็นหัวหน้างาน พร้อมกับแนะนำส่งเสริมให้ความรู้โดยการทำป้ายสอนภาษาต่าง ๆ ในสถานประกอบการอีกด้วย ในส่วนของสถาบันการศึกษานั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องมีบทบาทในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และโครงสร้างการวิจัยและการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีส่วนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามนโยบายรัฐบาล และต้องนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าทันเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบเดิมเป็นการเรียนแบบ Active Learning โดยการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาเกิดความอยากรู้ อยากทำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยมหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากความรู้และข้อมูลที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมา ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถสร้างหรือใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ อีกทั้ง ช่วยเกษตรกรให้ผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรมาเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Smart Farmer มีการบริหารจัดการที่ดีมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนเครือข่ายของมหาวิทยาลัยต้องกระจายความรู้ออกไปให้ทั่ว ประเทศสร้างความเจริญ และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สามารถทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิดได้โดยไม่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีงานที่ดีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยให้ผู้คนในสังคมและผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ใช้องค์ความรู้จากนักวิชาการและนักศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการบริการ ตัวอย่างการกระจายความรู้สู่ภูมิภาคนี้ ได้แก่ โครงการ InnoHub ของประชารัฐ ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้ง Thailand 4.0 จะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและประชาสังคม เป็นหัวใจหลักที่จะนำมาสู่ความสำเร็จ พร้อมที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ของประเทศ และช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวชื่นชม CNN ที่ยกย่องกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งอาหารริมทางดีที่สุดในโลกต่อเนื่อง พร้อมกำชับพ่อค้าแม่ค้ายึดหลักอนามัยจัดให้เป็นระเบียบตรึงใจนักท่องเที่ยว จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยนวัตกรรมดีเด่น “เกษตรศาสตร์ รวมพลังขับเคลื่อน Thailand 4.0" จำนวน 41 ผลงาน ที่พร้อมขยายขนาดการผลิต ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Smart Agriculture กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปมูลค่าสูง และกลุ่มชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจทุกผลงาน อาทิ EAT me ผลิตภัณฑ์แผ่นควบคุมน้ำตาลและต้านอนุมูลอิสระจากสารธรรมชาติ เซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับอาหารและการเกษตร Smart Agriculture Platform นิล 4.0 การพัฒนาสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังและกำจัดเห็บหมัดเหาในสัตว์ การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร : พริกปลอดภัยตามมาตรฐานการรับรอง Primary ThaiGAP โครงการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SMEs สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน การกำจัดผักตบชวา การเพาะเลี้ยงและเพิ่มจำนวนเชื้อรากำจัดผักตบชวาในระดับอุตสาหกรรมเพื่อแม่น้ำลำคลองใสสะอาดอย่างยั่งยืน การปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำ รถปลูกข้าวแบบหย่อนกล้าสำหรับนาประณีตและนาแปลงใหญ่